ประเด็นร้อน

CAC ความหวังในการแก้คอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 11,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -

 

คอลัมน์ เขียนให้คิด  :  โดยบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือโครงการ CAC ได้จัดงานมอบประกาศนียบัตรแก่บริษัทที่ผ่านกระบวนการรับรองและเป็นสมาชิกของโครงการอย่างสมบูรณ์ โดยมีบริษัทผ่านการรับรองในไตรมาสสี่ปีที่แล้ว และไตรมาสหนึ่งปีนี้รวม 66 บริษัท เป็นบริษัทที่ผ่านการรับรองครั้งแรก 42 บริษัท และเป็นบริษัทที่ผ่านการรับรองเป็นครั้งที่สอง หลังจากผ่านการรับรองครั้งแรกเมื่อสามปีก่อน 24 บริษัท

 

บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความคึกคัก ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของทั้ง 66 บริษัทมาร่วมงาน อย่างน้อยบริษัทละ 2-3 คน ทำให้จำนวนคนที่เข้าร่วมงานมีมาก  บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดโดย ดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานคณะกรรมการ CAC ต่อด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "4 ปี คสช. กับการปราบปรามคอร์รัปชัน" โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จากนั้นมีการมอบทุน CG Fund ให้กับโครงการ CAC SME โดยคุณสมิทธ์ พนมยงค์ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จากนั้นก็คือพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่บริษัทที่ผ่านการรับรองทั้ง 66 บริษัท และจบด้วยการกล่าวแสดงความยินดีโดยผม ดร.บัณฑิต นิจถาวร ในฐานะเลขาธิการโครงการCAC และถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

 

การมอบประกาศนียบัตรในวันนั้นทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC เพิ่มสูงขึ้น เป็น 325 บริษัท จากทั้งหมด 905 บริษัท ที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC ณ วันที่ 7 มิถุนายนเพื่อร่วมกันส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างสะอาด ต่อต้านการทุจริต ถือเป็นความเข้มแข็งของภาคเอกชนที่ยินดีเข้าร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจโดยสมัครใจ แสดงถึงความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน พร้อมร่วมมือและแสดงตนร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

 

ในประเทศที่มีการทุจริตมากอย่างประเทศไทย ที่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาเชิงระบบ การแก้ไขปัญหาจะไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องมาจากทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และประชาชน ทุกส่วนต้องร่วมกันมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา เพราะทุกส่วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ทำให้การแก้ไขปัญหาที่จะสำเร็จต้องมาจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม

 

แนวคิดนี้ทำให้โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตถือกำเนิดขึ้นจากการสนับสนุนขององค์กรในภาคธุรกิจที่สำคัญแปดองค์กร ซึ่งรวมถึงสถาบันไอโอดี หรือสถาบันกรรมการบริษัทไทยที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการ CAC ในฐานะเลขานุการโครงการ โครงการนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นพื้นที่ที่ภาคธุรกิจคือบริษัทเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้โดยสมัครใจ โดยการประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาดกับโครงการ CAC

 

เมื่อประกาศเจตนารมณ์แล้ว บริษัทมีพันธกิจที่ต้องทำให้เสร็จครบถ้วนสามเรื่องภายใน 18 เดือนหลังประกาศเจตนารมณ์ หนึ่ง บริษัทต้องมีการประกาศนโยบายชัดเจนโดยคณะกรรมการบริษัทว่าจะทำธุรกิจสะอาด ไม่รับไม่จ่ายสินบน ถือเป็นนโยบายการทำธุรกิจของบริษัท สอง บริษัทต้องประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจของบริษัท และดำเนินการวางระบบควบคุมและแนวปฏิบัติภายในบริษัท เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันไม่ให้เกิดขึ้นในการทำธุรกิจของบริษัท สาม การปฏิบัติตามข้อหนึ่งและข้อสองจะต้องมีการสอบทานโดยผู้ประเมินอิสระจากภายนอกว่าบริษัทมีการดำเนินการจริง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ซึ่งการสอบทานอยู่ในรูปของแบบประเมินตนเอง 71 ข้อ ที่ครอบคุลมคำถามเกี่ยวกับนโยบาย แนวปฏิบัติ ระบบควบคุมภายใน การให้ความรู้พนักงานและการรายงาน ซึ่งผู้บริหารบริษัทต้องตอบและสอบทานโดยผู้สอบทานอิสระ ผลการสอบทานก็คือ ข้อมูลที่บริษัทจะนำเสนอคณะกรรมการ CAC เพื่อขอการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ซึ่งการรับรองของคณะกรรมการ CAC คือ การรับรองว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ไม่ใช่รับรองพฤติกรรมของบริษัทว่าจะไม่ทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ

 

ในตอนเริ่มโครงการ CAC เมื่อปี 2553 มีบริษัทเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กลุ่มแรก 27 บริษัท จากนั้นจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ จนล่าสุดมีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ 905 บริษัท ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บางบริษัทมาร่วมประกาศเจตนารมณ์ด้วยตัวเองบริษัทเดียว บางบริษัทมากันเป็นกลุ่ม มากันเป็นสมาคม บริษัทที่เข้าประกาศเจตนารมณ์เป็นสมาคม ก็เช่น สมาคมธนาคารไทย ที่ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่งเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์พร้อมกัน นอกจากนี้ก็มีสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สมาคมบริษัทประกันชีวิต สมาคมบริษัทประกันวินาศภัย เป็นต้น มีทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ บริษัทในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด บริษัทไทยและต่างประเทศเข้าร่วมโครงการ CAC แสดงถึงความร่วมมือและความตั้งใจของภาคธุรกิจที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

 

การรวมตัวของบริษัทเอกชนในโครงการCAC แสดงชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมธุรกิจของประเทศที่ต้องการเห็นการทำธุรกิจเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ไม่มีการจ่ายสินบนหรือทุจริตคอร์รัปชัน เป็นโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเอกชน สมควรที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและสนับสนุน

 

แต่ขนานไปกับความพยายามของภาคเอกชนอย่างที่กล่าว ข้อเท็จจริงขณะนี้ก็คือ แม้บริษัทเอกชนจะมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่จ่ายสินบนและโมเมนตัมของความร่วมมือดังกล่าวกำลังเติบโต แต่ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศก็ยังมีอยู่มาก ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐเอง ที่หน่วยงานราชการที่ติดต่อหรือให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนยังมีพฤติกรรมที่ไม่สะอาด คือ ยังเรียกร้องและต้องการให้เอกชนจ่ายสินบนแลกกับการปฏิบัติตามหน้าที่ เช่น การออกใบอนุญาตหรือการพิจารณาเอกสารต่างๆ ตามระเบียบราชการ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคมากต่อการทำธุรกิจ เพราะมีข้าราชการที่เลือกจะไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่พิจารณาเรื่องหรือคำร้องตามที่เสนอไป ถ้าไม่มีการจ่ายสินบน ทำให้บริษัทที่มีนโยบายชัดเจนไม่จ่ายสินบนมีปัญหามาก เมื่อต้องติดต่อราชการและเจอข้าราชการฉ้อฉลแบบนี้ จึงชัดเจนว่าปัญหาคอร์รัปชันจะไม่สามารถลดลงได้จากความตั้งใจที่ดีของภาคเอกชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมาพร้อมกับการเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ทุจริตคอร์รัปชันของภาคราชการด้วย

 

ในเรื่องนี้ ความสำคัญของการปฏิรูประบบราชการเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชัน นับวันจะมีตัวอย่างให้เห็นมากขึ้นๆ ช่วงสี่ปีที่ คสช.มีอำนาจเป็นรัฐบาล และเป็นช่วงที่บทบาทของนักการเมืองอาชีพที่มาจากพรรคการเมืองได้ถูกลดทอนลงจากการปฏิวัติ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันก็ยังไม่หนีไปไหน ยังมีอยู่ และเป็นผลจากระบบราชการและภาคธุรกิจ คือ มีบริษัทธุรกิจที่พร้อมจ่ายสินบนเพื่อซื้อความสะดวก ซื้อความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือซื้อความผิดจากสิ่งที่ทำไปเพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดี คือ เป็นผู้ให้สินบน โดยมีข้าราชการที่ทุจริตในหน้าที่ที่เรียกร้องรับเงิน หรือไม่รักษากฎหมายเป็นผู้รับสินบน ล่าสุด เราก็เห็นพฤติกรรมทุจริตของข้าราชการที่โกงเงินงบประมาณแผ่นดินจากรายการใช้จ่ายของรัฐที่เป็นเงินโอนและเงินช่วยเหลือต่างๆ โกงเข้ากระเป๋าตัวเองโดยไม่มีภาคธุรกิจเข้าไปยุ่งเกี่ยว แสดงชัดเจนว่าคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีนักการเมืองหรือบริษัทเอกชนเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เป็นผลงานตรงๆ ของข้าราชการ

 

ข้อเท็จจริงนี้จึงให้ข้อคิดสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ

 

หนึ่ง ภาคธุรกิจสามารถมีบทบาทในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้โดยหยุดการให้สินบน เพราะทุกบริษัทสามารถมีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้แบบที่ทำกับโครงการCAC เพียงแต่ขณะนี้หลายบริษัทยังไม่ทำ ดังนั้น การสร้างเงื่อนไขให้บริษัทต้องมีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแบบนี้มากขึ้นๆ เช่น กำหนดให้เป็นคุณสมบัติของบริษัทที่ต้องการทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และควรต้องดำเนินการ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนและพฤติกรรมทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

สอง การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐมักเกิดจากสามแรงจูงใจที่เอื้อให้โกง คือ ความไม่โปร่งใส การไม่มีระบบการตรวจสอบที่จริงจัง และการไม่ดำเนินการเอาผิดอย่างที่ควรกับผู้ที่ทุจริต จุดอ่อนเหล่านี้ทำให้การโกงในหน่วยงานราชการจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการและมีต่อเนื่อง แต่ทั้งสามเรื่องก็เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย ทั้งโดยระบบงานใหม่ การใช้เทคโนโลยี และการตรวจสอบที่จริงจัง แต่ข้ออ่อนแอของบ้านเราก็คือ ผู้ที่มีอำนาจที่จะทำเรื่องเหล่านี้กลับไม่ทำหน้าที่ คือ ไม่พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาจึงมีอยู่ ไม่มีการแก้ไข และสร้างปัญหาและภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ เช่น การเอาผิดข้าราชการที่ทำผิดโดยมาตรา 44 มีการประกาศรายชื่อข้าราชการถึงขณะนี้เพียงสี่ร้อยกว่าคนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ความกล้าที่จะใช้อำนาจแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างจริงจังยังเป็นจุดอ่อนของการบริหารประเทศ

 

สาม ความโปร่งใสที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากกฎระเบียบและการปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยข้าราชการ เพราะความไม่โปร่งใสเป็นเงื่อนไขสำคัญของการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ไม่มีแรงจูงใจให้ระบบราชการอยากมีความโปร่งใสมาก ดังนั้น การสร้างความโปร่งใสที่จะลดแรงจูงใจไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชันต้องมาจากภายนอกที่ระบบราชการควบคุมไม่ได้ เช่น จากบทบาทของภาคประชาสังคมในการเปิดโปง บทบาทของสื่อมวลชน และ Social Media จากระบบการแสดงความเห็นของผู้ใช้บริการที่ถูกกดดันให้ต้องจ่ายสินบน เช่น โครงการCitizen Feedback ของCAC และการปรับปรุงระบบงานราชการ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือติดต่อราชการแทนการติดต่อราชการที่ต้องเจอหน้าแบบ face to face รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น block chain มาใช้ เหล่านี้มีตัวอย่างในต่างประเทศมากมายที่สามารถลดการทุจริตคอร์รัปชันได้ นี่คืออีกหนึ่งพื้นที่ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์นำมาแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในบ้านเรา

 

ดังนั้น ดูจากความตั้งใจของบริษัทเอกชนที่เข้ามาร่วมโครงการ CAC เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ดูจากความท้าทายของการเปลี่ยนพฤติกรรมการทุจริตในระบบราชการ และดูจากศักยภาพที่ภาคประชาสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ทำให้มีความหวังว่าปัญหาคอร์รัปชันของเรายังสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ที่ผ่านมา อำนาจในการแก้ไขปัญหายังไม่ตกอยู่กับคนที่กล้าใช้อำนาจแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดจริงจัง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw